ศาลเจ้าเก่าแก่ขนาดใหญ่และสวยงามอีกแห่งในจังหวัดภูเก็ต ที่รวบรวมองค์ความรู้ของบรรพชนชาวจีน เป็นสถานที่ที่ผู้คนศรัทธามาขอพรให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง หายเจ็บป่วย จาก "เทพเจ้าโป่เส่งไต่เต่" หรือองค์หงอจินหยิน ผู้มีความเชี่ยวชาญในการแพทย์แผนโบราณ และสักการะเทพเจ้ากวนอู (องค์เต้กุ๊น) เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต

ศาสนสถาน ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับบรรพชนชาวจีนที่เดินทางเข้ามายัง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งบรรพชนชาวจีนเหล่านั้นได้นำความเชื่อ และพิธีกรรมต่าง ๆ มาให้ชาวภูเก็ตได้ปฏิบัติอีกด้วย เช่น เมื่อถึงเทศกาลถือศีลกินผัก ชาวภูเก็ตจะมาร่วมพิธีที่นี่ด้วยเช่นกัน เพราะศาลเจ้าท่าเรือเป็นศาลเจ้าที่ เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต

ที่ตั้ง ๑๖๙ ถนนเทพกระษัตรี ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ๘๓๑๑๐ เปิดให้เข้าชม : ๘๐.๐๐-๑๗.๐๐ น. เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/ศาลเจ้าท่าเรือ แ

ประวัติ ศาลเจ้าท่าเรือ มีองค์พระโป้เส่ง ไต่เต่ (หงอจินหยิน) เป็นพระประธาน หงอจินหยินเป็นแพทย์แผนจีน ที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคด้วยสมุนไพร โดยใช้วิธีการแมะคือการจับชีพจรที่ข้อมือของผู้ป่วยถือเป็นการวิเคราะห์ โรคที่ค่อนข้างแม่นยำ ซึ่งหงอจินหยินได้รับการถ่ายทอดวิชาการแพทย์ แผนจีนมาจากครอบครัว และรักษาคนป่วยหายเป็นจำนวนมาก จนได้รับการขนานนามว่า "เทพเจ้า ผู้ช่วยชีวิต" เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนแถบฝูเจี้ยน ไต้หวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากคุณงาม ความดี และความสามารถในการรักษาคนให้หายเจ็บป่วย จึงมีผู้รวบรวมตำรายาที่หงอจินหยินใช้รักษาคนจัดทำเป็นหนังสือ สารานุกรมสมุนไพรจีน แปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา มอบให้กับห้องสมุดหลายประเทศ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในอดีตเมื่อชาวบ้านบริเวณบ้านท่าเรือเกิด เจ็บป่วยก็ได้ทำพิธีอัญเชิญ ดวงจิตวิญญาณของเทพเจ้าโป้เส่ง ไต่เต้ (หงอจินหยิน) มาประทับร่างทรง หรือ ม้าทรง เพื่อรักษาคนที่เจ็บป่วย ซึ่งในขณะนั้นบริเวณบ้านท่าเรือยังไม่มีศาลเจ้าร่างทรงพระหมอหงอจินหยินจึงรักษาผู้ป่วยในบ้านของชาวบ้าน โดยไม่คิดค่ารักษาโรค เมื่อผู้คนหายจากการเจ็บป่วย ก็เกิดความศรัทธาในตัวพระหมอฯ ได้บริจาคเงินเป็นค่ารักษาพยาบาล บางคนก็บริจาคเป็นที่ดิน ทางคณะกรรมการและชาวบ้านจึงเห็นพ้องกันว่าควรสร้างอาคารศาลเจ้าขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หากที่ดินไม่พอ ก็ให้ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพิ่ม ศาลเจ้าท่าเรือจึงเกิดขึ้นจากความศรัทธาของชาวบ้านและคณะกรรม การชุดนั้นที่มีต่อพระหมอหรือเทพเจ้าหมอ ก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่ได้รับบริจาคจากผู้ศรัทธาและที่ดินที่ซื้อเพิ่ม ต่อมาได้มอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมทั้งเงินที่ได้รับบริจาคให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล

เทพเจ้ากวนอู อ้ามท่าเรือ ปี พ.ศ.๒๕๔๓ ทางคณะกรรมการ ฯ มีมติปรับปรุงอาคารศาลเจ้าเป็นสองชั้น ประกอบกับกรมทางหลวงแผ่นดิน ได้ขยายถนน ทำให้บริเวณศาลเจ้าคับแคบ จึงได้จัดซื้อที่ดินด้านหลัง และ ด้านข้างของศาลเจ้าเพิ่ม เพื่อขยายพื้นที่ และก่อสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ ได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมของศาลเจ้าขงจื้อ นานกิง ประเทศจีน มาประยุกต์ให้เข้ากับการใช้ประกอบพิธีกรรม ศาลเจ้าท่าเรือ จึงเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนบ้านท่าเรือ มาจนถึงปัจจุบัน

พิธีกรรม / ประเพณี งานประเพณีประจำปีของศาลเจ้าท่าเรือ ที่จัดเป็นประจำ ได้แก่ วันแซยิดหรือวันเกิดของพระ(เทพเจ้าจีน) เพื่อระลึกถึงประวัติ คุณงามความดีของเทพเจ้าแต่ละองค์ และเทศกาลถือศีลกินผัก ใน วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ เป็นเวลา ๙ วัน ๙ คืน ตามปฏิทินจีน

นามานุกรม

- วัน แสนเขียว เพศชาย อยู่ที่ ๑๗๔/๓ หมู่ที่ ๓ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ให้ข้อมูล

- อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๓

- สุนันทา กลสามัญ เพศหญิง เกิด ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๓ ภูมิลำเนาจังหวัดภูเก็ต อยู่ที่ หมู่ที่ ๓ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ให้ข้อมูล อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๓

บรรณานุกรม

- "กวนเตกุ๊น เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์" อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก (อ้างอิง) https:www.phuketdata.net/main/index.php?option=com_content&task=view&id=๒๘๘๗ <emid=๕ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓

- ศาลเจ้าท่าเรือ อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก http://www.srisunthon.go.th/ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

- ศาลเจ้าท่าเรือ อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก http://dawninphuket.blogspot.com/ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

- ศาลเจ้าท่าเรือ อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก news.phuketindex.com เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

- หงอจินหยิน อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร สืบค้นจาก www.somboon.info เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

แผนที่
หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง