เครื่องปั้นดินเผามีความผูกพันกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันสำหรับบรรจุอาหารและสิ่งของต่าง ๆ ในอดีต ชาวบ้านหมู่ที่ ๒ บ้านลิพอนบางกอก ได้ผลิตหม้อดินขึ้นมาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีเหลือก็นำออกจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียงไปไกลถึงเมืองตะกั่วป่าและ เมืองพังงา โดยใช้วัตถุดิบและวัสดุที่มีในท้องถิ่นและใช้ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่ รุ่นมาผลิตเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งในการผลิตเครื่องปั้นดินเผานั้นใช้ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างครบถ้วน ตามลำดับ ดังนี้ ปั้นหม้อด้วย ดิน ที่ขุดขึ้นมา ผสมเข้ากับ น้ำ แล้วไล้ขึ้นรูปแล้วเอาผึ่งลมในที่ร่มก่อนนำเข้าเผา ไฟ ในเตา เครื่องปั้นดินเผามีชื่อเรียกตามหน้าที่การใช้งาน คือ หม้อข้าว หม้อ แกง สวด (ใช้นี่ง) หม้อใส่น้ำดื่ม และหม้อขนาดใหญ่เป็นหม้อใส่น้ำไว้ใช้
ชาวบ้านลิพอนบางกอกในอดีตใช้ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่ทำขึ้นเองภาย ในหมู่บ้านในการหุงต้มอาหาร เมื่อมีเหลือมากพอก็จำหน่ายไปสู่ชุมชนใกล้เคียงจนถึงเมืองพังงาและเมืองตะกั่วป่า เครื่องปั้นดินเผามีชื่อเรียกตามหน้าที่การใช้งาน คือ หม้อข้าว หม้อแกง สวด (ใช้นึ่ง) หม้อใส่น้ำดื่ม และหม้อขนาดใหญ่เป็นหม้อใส่น้ำไว้ใช้หม้อทุกประเภทปั้นจากดินปลวกในหมู่บ้าน ซึ่งดินปลวกเป็นดินที่ใช้ปั้นเป็นภาชนะได้ดี อรุณ จันทวงศ์ ได้สาธิตกรรมวิธีปั้นหม้อด้วยการนำดินปลวกมานวด แบ่งดินออกเป็นก้อนขนาดเท่าผลส้มโอ แล้วนำมาขึ้นรูป วางก้อนดินสี่เหลี่ยมบนเสื่อผืนเล็กซ้อนลงบนเลียงร่อนแร่ ใช้นิ้วมือกดดินขึ้นรูปเป็นทรงหม้อ หมุนเลียงเพื่อให้มือบังคับดินทรงหม้อให้บางลงและหม้อขยายตัวขนาด ใหญ่ขึ้น ใช้ไม้ตีหม้อเพื่อช่วยให้ดินบางลง โดยมีลูกดุ้งกันดันอยู่ภายในหม้อเพื่อป้องกันไม่ให้ดินแตก เมื่อใกล้เป็นรูปทรงหม้อจะใช้ไม้ตีหม้อที่มีลวดลายตีลงบนผิวของหม้อเพื่อให้เกิดลวดลายตามพิมพ์ไม้นอกจากก่อให้เกิดลวดลายสวยศิลป์บนผิวหม้อแล้ว ยังทำให้ผู้ใช้จับหม้อได้ถนัดมืออีกด้วย
ไม้ตีหม้อ มีขนาดยาวประมาณ ๑ ฟุต กว้าง ๒ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว เป็นไม้เนื้อแข็ง แกะสลัก ลวดลายเป็นทรงเรขาคณิตบนความกว้าง ทั้ง ๒ ด้าน มีลวดลายต่างกัน เป็นลวดลายเส้นขนาน เส้นทะแยง เส้นทะแยงตัดกันให้มีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน รูปทรงของหม้อแกง มีลักษณะปากกว้างกว่าหม้อข้าวส่วนกลางหม้อป่องออกเกิดเป็นมุม เหลี่ยมแหลม ช่างปั้นตกแต่งผิวหม้อใต้ปากหม้อให้เป็นลายนูนต่ำคล้ายเส้นเชือกพันกัน มีลวดลายลงมาถึงมุมเหลี่ยมแหลม ใต้ลงไปส่วนก้นหม้อลวดลายจะบางลง ผิวหม้อด้านในจะเรียบเกลี้ยงขึ้นมาจนถึงขอบหม้อ เพื่อไม่ให้อาหารออกจากหม้อได้ง่าย อาหารไม่ค้างติดหม้อให้เกิดบูดเน่า ส่วนริมขอบปากหม้อ ช่างจะทำเป็นรอยเส้นยาวเป็นวงกลม ๑ ชั้นบ้าง ๒ ชั้นบ้าง เพื่อให้ผู้ใช้สัมผัสในเวลามืดค่ำได้ว่าพื้นที่หม้อสิ้นสุดแล้ว ควรจับให้ลึกลงมากน้อยตามน้ำหนักของหม้อ เป็นการทนุถนอม หม้อให้มีโอกาสใช้งานได้นานขึ้น
การปั้นฝาหม้อก็มีศิลปะขนาดเหมาะกับปากหม้อตรงขอบฝาหม้อจะมีทรงมนโค้ง แม้ว่าปากหม้อจะมีขนาดไม่เท่ากัน ขอบฝาหม้อจะวางต่ำลง สูงขึ้นมา สูงจนถึงระดับเส้นขอบหม้อ ฝาหม้อแต่ละใบจึงใช้แทนฝาหม้อเดิมได้อย่างเหมาะเจาะ (อรุณ จันทวงศ์ ๒๕๖๓ : อ้างอิง) (สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ๒๕๖๑ : ภูเก็จจดหมายเหตุ) ก่อนการใช้หม้อดิน ชาวบ้านจะมีวิธี "สิก" หม้อ เพื่อเคลือบผิวหม้อด้านในด้วยถ่าน ใบพิกุล หรือตั้งหม้อบนเตาแล้วใส่น้ำตาล (น้ำผึ้ง ให้ละลายจนไหม้ เมื่อหม้อเย็นลง จึงใช้ผ้าเช็ดให้พื้นผิวหม้อด้านในเรียบเป็นมัน ถ้าเป็นบาตรก็ "สิก"ด้วยวิธีเดียวกัน จะช่วยให้เศษดินเผาหรือฝุ่นละอองที่ติด ค้างก้นหม้อใหม่หลุดออก (กัลยา จันทวงศ์ ๒๕๖๓ : นามานุกรม) อันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่กระทำก่อนการใช้หม้อใหม่ฃ
ที่ตั้ง หมู่ที่ ๒ บ้านลิพอนบางกอก ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ๘๓๑๑๐
นามานุกรม
- กัลยา จันทวงศ์ เพศหญิง เกิด ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๗ ภูมิลำเนาบ้านลิพอน อยู่ที่ ๗๙/๓ บ้านลิพอนบางกอก หมู่ที่ ๒ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ๘๓๑๑๐ ให้ข้อมูล ดร.อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
- เนียด ไกรเลิศ เพศหญิง เกิด พ.ศ.๒๔๘๖ ภูมิลำเนาบ้านลิพอน อยู่ที่ ๑๓๘ บ้านลิพอนบางกอก หมู่ที่ ๒ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ๘๓๑๑ให้ข้อมูล ดร.อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
- สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ เพศชาย เกิด ๑ สิงหาคม ๒๔๘๙ ภูมิลำเนาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต อยู่ที่ ๑๗๕ หมู่ที่ ๑ บ้านหินรุ่ย ตำบลเทพกระษัตรี ถนนเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ให้ข้อมูล ดร.อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
- อรุณ จันทรวงศ์ เพศหญิง เกิด พ.ศ.๒๔๗๘ ภูมิลำเนาบ้านลิพอนถลาง อยู่ที่ ๗๙/๓ บ้านลิพอน บางกอก หมู่ที่ ๒ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ๘๓๑๑ ให้ข้อมูล ดร.อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
บรรณานุกรม
- วาตา (นามแฝง) (๒๕๕๑) "ปั้นหม้อบ้านพอน" ในนิตยสารรายเดือน ดีบุก หน้า ๕-๕ ภูเก็ต : ที่.ชี.ชี. แอดเวอร์ไทซิ่ง ๒๑/๑ ถนนดำรง ต.ตลาดใหญ่ อ.เมิองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- สมหมาย ปั่นพุทธศิลป์ บรรณาธิการ (๒๕๖๑) ภูเก็จ : จดหมายเหตุ ภูเก็ต : หภว. หอจดหมายเหตุ ภูเก็ต โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑, ๒๓๓ หน้า