หมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถีและการท่องเที่ยวแบบดีโฮฟที่น้อมนำ พระราชดำริปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ ๙ มาใช้ สัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชนผ่านอัตลักษณ์ท้องถิ่น ศิลปะการแสดงหนังตะลุงฝั่งปละตก หน้าน้ำ หน้าไฟ ลิงดำลิงขาว เณรพอน กร้าง ที่หาดูชมได้ยากในปัจจุบัน ลองลิ้มชิมรสอาหารปิ่นโตพื้นถิ่นรสชาดดี เมนูปลาถ้ำ ปรุงด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม ที่มีเพียงแห่งเดียวในจังหวัดภูเก็ต และมีน้ำพริกปลากรอบ เครื่องข้าวยำ ผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ และผลิตภัณฑ์เกษตร
การออกหน้าน้ำหน้าไฟ
แหล่งการเรียนรู้ที่น้อมนำพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในชุมชน และปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี ที่กรมการพัฒนาชุมชนให้การ สนับสนุน ที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับคนในชุมชน เช่น ทำอาหารพื้นบ้าน ทำผ้า มัดย้อม แกะตัวหนังตะลุงและชมการแสดงหนังตะลุงฝั่งประตก ร่วมรับประทานอาหารพื้นถิ่นที่ใส่ใน ปิ่นโต เป็นต้น ยังมีพืชผักพื้นบ้านและสินค้าโอท็อปที่ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันผลิต นำมาวางจำหน่ายให้เลือกซื้อเป็นของฝากอีกด้วยที่ตั้ง หมู่ที่ ๕ บ้านลิพอนใต้ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ๘๓๑๑๐
ประวัติ
หมู่ที่ ๕ บ้านลิพอนใต้ ได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้ดำเนินโครงการตามพระราชดำริเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงมาสู่การปฏิบัติ คณะกรรมการหมู่บ้านได้เข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน เมื่อกลับจากศึกษาดูงาน คณะกรรมการหมู่บ้านได้ประชุมลงมติให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯขึ้นในชุมชน นางอำพร ผสมทรัพย์ ประธานกลุ่ม ฯ ได้เข้าฝึกอบรมศาสตร์พระราชาที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและได้รับใบงานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จึงได้ตั้งปณิธานว่าจะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเผยแพรให้กับคนในชุมและผู้สนใจ นางอำพร ผสมทรัพย์ ได้นำเงินทุนส่วนตัวจำนวนหนึ่งบริจาคให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นในที่ดินของตนเองเพื่อใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมของชุมชนและเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ในปีพ.ศ.๒๕๖๑ กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดสรรงบประมาณให้ชุมชน จัดทำโครงการฝึกอบรมหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี และในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ได้จัดสรรงบประมาณการฝึกอบรมการท่องเที่ยวแบบ D-HOPE เพื่อต่อยอดให้คนในชุมชม ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ ฯ เป็นแหล่งการเรียนรู้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในจังหวัดและภายนอกมาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ฯ บ้านลิพอนใต้ เป็นชุมชนที่มีวิถีชาวบ้านเรียบง่าย มีเสน่ห์และยังมีกลิ่นไอของสังคมชนบท ผู้คนเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรมพื้นบ้านที่ยังมีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์หย้องเกาะ ตัวหนังควายในหนังประตก ที่มาะมอภ.จห.(บ้านลิพอน)
สิ่งที่น่าสนใจ
๑.หนังตะลุงประตก (หนังตะลุงฝั่งตะวันตก ในจังหวัดภูเก็ต และพังงา) เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่แตกต่างไปจากหนังตะลุงฝั่งตะวันออก โดยการนำตัวหนังตะลุงหรือหนังควายมาเชิดบนจอผ้าเพื่อให้เป็นเงาเล่า เรื่องราวด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่นสะท้อนเรื่องราวในสังคม ตามยุคสมัย หรือแสดงเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เพื่อให้เกิดความบันเทิง และเพื่อพิธีกรรมการแก้เหมรย (แก้บน) ของคนในชุมชนซึ่งยังคงสืบสานต่อยอดเพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมหายากไม่ให้สูญหายไปจาก ชุมชนตัวละครที่ใช้แสดง เช่น ฤาษี หน้าน้ำ หน้าไฟ ลิงขาวลิงดำ เณรพอน หย้องเกาะ กร้าง เป็นต้น ๒. ผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ เป็นการนำผ้าปาเต๊ะที่ผู้หญิงในชุมชนใช้ใส่เป็นผ้านุ่งในชีวิตประจำวันมาเพ้นท์ลงบนลายผ้าเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มสีสันความสวยงามให้มากขึ้น ๓. ปลาถ้ำ เป็นกรรมวิธีการถนอมอาหารของชาวบ้านลิพอนใต้ ที่นำปลามาแปรรูปโดย วิธีการตุ๋นปลาให้นิ่มทั้งตัว เพื่อยืดอายุเก็บไว้กินได้นานยิ่งขึ้น ๔. เครื่องข้าวยำ ที่มีรสชาติจัดจ้าน เผ็ดร้อนด้วยสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ นายหนังประตก นายหนังชวน ผสมทรัพย์ ที่มา :มอภ.จห. (บ้านลิพอน)
นามานุกรม
- จินตนา แนมใส เพศหญิง เกิดเมื่อ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๑ ที่อยู่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอถลาง ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓
- สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ เพศชาย เกิดเมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๙ ภูมิลำเนาภูเก็ต ที่อยู่ ๑๗๕ หมู่ ๑ ต. เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โทร..๐๘๑๓๒๖๒๕๔๙ ให้สัมภาษณ์ อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓
- สุนทร ผสมทรัพย์ เพศชาย ภูมิลำเนาภูเก็ตที่อยู่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลิพอนใต้หมู่ที่ ๕ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร เมื่อ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๓
- อำพร ผสมทรัพย์ เพศหญิง ภูมิลำเนาภูเก็ต ที่อยู่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลิพอนใต้ หมู่ที่ ๕ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ ฉันท์ชนิต สรรเพ็ชร เมื่อ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๓
บรรณานุกรม
- ภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (๒๕๖๒) ชื่อบ้านนามเมืองในภูเก็จ ภูเก็ต: บริษัทอ๊อฟเซ็ท เพรส จำกัด
- สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ : หมายเหตุรักษ์ (๒๕๖๓) หอจดหมายเหตุ มอภ.ภูเก็ต: สืบค้นจาก phuketdata.net เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๓